วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินโครงการ
“ไผ่พืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้และฟื้นฟูป่า”

          เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินโครงการอบรมให้ความรู้เรื่อง “ไผ่พืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้และฟื้นฟูป่า” ณ ตลาดสามัคคีพัฒนา ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วงจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไผ่และการต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่า ได้แก่ ธุรกิจไผ่เพื่องานสถาปัตยกรรมและก่อสร้าง โอกาสและตลาดการผลิตสินค้าไผ่ไทย ตลอดจนการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเครื่องจักรกล ธุรกิจการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มระดับครัวเรือน โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด นายเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีหน่วยงานภายในจังหวัดกาญจนบุรี สภาเกษตรกรจังหวัดและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดในแต่ละจังหวัด พร้อมด้วยเกษตรกรประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๒๐๐ ราย


      ทั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี โดยนางสมพร โพธิ์ธรรม หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ดำเนินโครงการ มีแนวคิดให้เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรีมีทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไผ่” ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ในอดีตเป็นป่าไผ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งไผ่เป็นไม้เติบโตเร็วไผ่ที่นิยมปลูกคือ ไผ่ซางหม่น ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง นอกจากจะช่วยฟื้นฟูให้มีพื้นที่ป่ากลับมาดังเดิมในเวลาอันรวดเร็วยังพบว่าปัจจุบันไผ่เป็นพืชที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นเป็นลำดับ จัดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคงยั่งยืนจากคุณประโยชน์ของไผ่ที่มีมากมายหลายประการ อาทิ หน่อใช้เป็นอาหารลำต้นใช้ทำที่อยู่อาศัยเฟอร์นิเจอร์เครื่องนุ่งห่มเชื้อเพลิงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ของใช้ในครัวเรือน  นวัตกรรมการแปรรูปต่างๆ งานพิธีกรรมงานวัฒนธรรมการค้ำยันเลื้อยพันยึดเกาะของพืชผลการเกษตรการเลี้ยงหอยในทะเลการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่ง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นต้น
จากการดำเนินโครงการดังกล่าวสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไผ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีเป้าหมาย ดังนี้
๑.ศูนย์เทคโนโลยีและธุรกิจไผ่ชุมชน เพื่อนำร่องและเป็นต้นแบบของการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเศรษฐกิจพอเพียงวนเกษตร และระบบการจัดการผลิตภัณฑ์คุณภาพจากไผ่ในระดับครัวเรือน การดูแลฟื้นฟูสภาพป่าด้วยไผ่
๒.การพัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีและธุรกิจไผ่ เพื่อสร้างโอกาสในระบบการผลิตและการจัดการชุมชนเชิงพึ่งพาที่ยั่งยืน
๓.การใช้ไผ่เพื่อการจัดการสวนผัก ไม้ผลคุณภาพ การปศุสัตว์ และการใช้ไผ่เป็นพืชพลังงานทดแทน
๔.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่คุณภาพระดับส่งออก เพื่อเพิ่มศักยภาพของกระบวนการผลิตและการตลาดไผ่ของจังหวัดกาญจนบุรีระดับส่งออกด้วยนวัตกรรม
๕.การจัดการการท่องเที่ยวไผ่เชิงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมที่เกิดจากไผ่ของแต่ละชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี
๖.พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ของไผ่ เพื่อจัดการความรู้และเป็นแหล่งความรู้ด้านไผ่ของจังหวัดกาญจนบุรี