วิธีการปลูกและดูแลรักษาลำไย

แนะนำสายพันธุ์ที่ควรปลูก
วิธีการปลูกลำไยจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องของสายพันธุ์ให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก่อนปลูกจะทำให้เสียเวลาและโอกาส สายพันธุ์ลำไยมีอยู่มากมายหลายชนิด สิ่งสำคัญคือการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการทำการตลาดในอนาคต โดยสายพันธุ์ที่จะแนะนำคือพันธุ์พวงมณี เพราะสามารถผลิตให้ออกดอกในช่วงฤดูฝนได้ดี ขนาดผลโต เมล็ดเล็ก เนื้อแห้งหวานกรอบ และเปลือกหนา เวลาผลอยู่ที่ต้นถ้าไม่แกะจะไม่มีกลิ่นค้างคาวจึงไม่มารบกวน ต่างกับสายพันธุ์อีดอ ดอกบานในฤดูฝนถ้าฝนตกลงมาดอกจะล่วงหมด เปลือกบางผลแตกง่าย และเป็นที่ชื่นชอบของค้างคาว ซึ่งพันธุ์พวงมณีที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกนั้นมีเปลือกที่หนาและสามารถผลิตได้ในฤดูฝนแล้วไปเก็บผลผลิตได้ในฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีผลไม้เข้าสู่ตลาดน้อยมาก การตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตลาดจีนตลาดญี่ปุ่นหรือตลาดยุโรปไม่มีผลผลิต จึงเป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกรในการจำหน่าย นอกจากนี้ด้วยเปลือกที่หนาทำให้เก็บไว้ได้นานหลายวันไม่ต้องอบกำมะถัน สามารถผลิตแบบปลอดภัยได้ส่งผลดีต่อผู้บริโภคและสินค้ามีมาตรฐานสามารถทำการตลาดได้ทั่วโลก

วิธีการเพาะปลูก
          วิธีการเพาะปลูกจะต้องศึกษาในเรื่องพื้นที่ แล้วปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าเป็นดินเหนียวจัดและที่ต่ำให้ทำการยกร่องห่างกัน ๖ เมตรต่อ ๑ ร่อง จะได้ป้องกันน้ำท่วมขัง ถ้าน้ำท่วมขังจะทำให้ต้นลำไยยืนต้นตาย ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายให้ไถแล้วชักร่องเหมือนชักร่องอ้อย แล้วขุดดินพูนขึ้นเป็นโคกแล้วปลูกบนโคกสันร่อง อย่าปลูกในร่องน้ำจะแฉะน้ำตาย เพราะช่วงที่ปลูกใหม่ๆต้นลำไยไม่ต้องการน้ำมาก ๒-๓ วัน จึงให้น้ำครึ่งหนึ่ง ก่อนให้ต้องสำรวจดูก่อนว่าดินนั้นแห้งหรือป่าว ถ้ายังไม่แห้งอย่าเพิ่งให้น้ำต้องรอให้ดินแห้งเสียก่อนจึงให้น้ำได้ หลังฝนตกให้เกษตรกรออกไปดูตรงต้นลำไยน้ำขังหรือป่าว ถ้ามีน้ำขังให้ถากดินใส่โคนต้นลำไยให้สูงขึ้นไม่เช่นนั้นต้นลำไยจะตายช่วงปลูกใหม่ๆเกษตรกรจะต้องคอยตรวจดูอย่างสม่ำเสมออย่าให้น้ำแห้งจนเกินไป และอย่าให้น้ำแฉะมากเกินไป ถ้าปลูกในหน้าฝนในดินเหนียวให้เกษตรกรพูนโคกดินขึ้นมาเล็กน้อยแล้วจึงปลูกต้นลำไยลงไปเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำแฉะตาย

ระยะการปลูกและการดูแลรักษา
          ระยะการปลูกถ้ามีเนื้อที่น้อยให้ปลูก ๖ เมตร x ๖ เมตร ถ้าเนื้อที่มากให้ปลูก ๖ เมตร x ๘ เมตร จะได้มีช่องเดินเพื่อความสะดวกในการรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต เวลาปลูกห้ามใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ก้นหลุมเป็นอันขาดมิเช่นนั้นจะตายหมด หลังจากปลูกไปแล้ว ๓ เดือน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยเคมีสูตร ๒๔-๗-๗ หรือปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ได้ ทั้งนั้น แต่ใส่เพียงเล็กน้อยก่อน ต่อไป ๑ เดือนใส่ ๑ ครั้ง เมื่อต้นโตขึ้นจึงเพิ่มปริมาณการใส่ปุ๋ยมากขึ้น เวลาปลูกใหม่ๆหรือต้นยังเล็กอยู่ จะมีตัวเต่าหรือตัวกระเบื้องมากินใบอ่อนในเวลากลางคืน สารชีพภาพฉีดไม่ตายต้องใช้สารเคมีสารไซเปอร์จึงตาย แต่จะฉีดตอนเวลา ๑ ทุ่ม เพราะตัวเต่ากำลังกินจึงตายหมดพอต้นลำไยโตสูงเสมอหัวคนตัวเต่าก็จะไม่มากินใบอ่อน การกำจัดเพลี้ยไฟไรแดงและเพลี้ยต่างๆให้ใช้ยาเส้น ๑ ขีด หมักในเหล้าขาว ๑ ขวด ทิ้งไว้ ๒ คืนขึ้นไปแล้วใช้ผ้าขาวบางกรองคั้นเอาเฉพาะน้ำมาใช้ยาที่คั้นแล้ว ๕๐ ซี.ซี. นำไปผสมน้ำ ๒๐ ลิตร และน้ำส้มส้มควันไม้ ๑๐ ซี.ซี.ฉีดพ่นทุกๆ ๗ วัน
          เมื่ออายุของต้นลำไยได้ ๒ ปีถึง ๒ ปีครึ่ง ถ้าต้นสมบูรณ์งามดีก็สามารถที่จะบังคับให้ต้นลำไยออกดอกได้แล้ว โดยใช้สารโพแทสเซี่ยมครอเรต ๒๐๐ กรัมผสมน้ำ ๔ ลิตร ราดให้รอบใต้ในทรงพุ่ม หลังจากนั้นจะต้องให้น้ำ ๒-๓ วันต่อครั้งตลอด ๒๕ วัน ต้นลำไยก็จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาให้เห็นหลังจากดอกแล้วให้ใช้น้ำยาเส้น+เหล้าขาว+น้ำส้มควันไม้+สาหร่ายเขียวฉีดพ่นทุกๆ ๗ วัน สังเกตดูว่าดอกลำไยออกมายางประมาณ ๓-๔ นิ้ว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ ต้นละไม่เกิน ๑๐๐ กรัม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ดอกแข็งแรงจะได้ติดผลดก อย่าใส่มากจะทำให้ดอกร่วง พอดอกเริ่มบานให้หยุดการฉีดสารทุกชนิดเพื่อที่จะให้แมลงมาผสมเกสร เมื่อดอกบานหมดแล้วจึงใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ใส่เดือนละหนึ่งครั้งๆที่สามให้ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ เพื่อเร่งความหวาน หลังจากติดผลการบำรุงรักษาก็ฉีดพ่นเป็นปกติส่วนอาหารเสริมให้ใช้ได้ตามถนัดส่วนการให้น้ำ ๓-๔ วันต่อครั้งหรือดูตามความเหมาะสมไม่ต้องให้น้ำเปียกเสมอบางครั้งต้องปล่อยให้แห้งบ้าง ลำไยจึงจะโตเร็วดี เมื่อลำไยติดผลแล้วเมล็ดเท่าถั่วเหลืองให้ทำการตัดแต่งกิ่งออกไปบ้าง ถ้าดกมาเกินไปให้ตัดช่อเล็กทิ้งและตัดปลายช่อใหญ่ทิ้งไปให้เหลือประมาณ ๗๐-๘๐ ผลต่อช่อก็พอจะได้ลำไยที่มีผลขนาดใหญ่เสมอกันหมด เวลาขายจะได้ราคาดีต้นไม่โทรมหลังเก็บเกี่ยว ถ้าปล่อยไว้มากเกินไป จะทำให้ได้ผลเล็กเวลาขายไม่ได้ราคา แล้วจะทำให้ต้นโทรมปีต่อไปจะให้ผลผลิตน้อย

การตัดแต่งกิ่งลำไย
          วิธีการให้ตัดแต่งกิ่งต้นลำไยปีหนึ่งจะตัดแต่งสองครั้ง ครั้งแรกให้ตัดแต่งหลังจากติดผลแล้วประมาณ ๕ วัน ให้ตัดกิ่งภายในทรงพุ่มออกให้หมด แล้วตัดกิ่งที่ไม่มีช่อดอกออกไปบ้างเพื่อที่จะให้ภายในทรงพุ่มโปร่ง จะได้ไม่เป็นที่อาศัยของแมลง และสะดวกในการดูแลรักษา
ครั้งที่สอง ให้ตัดแต่งหลังจากเก็บผลหมดแล้ว ในปีแรกเราเพียงตัดกิ่งที่สูงกว่าปกติตัดออกให้ได้ทรงพุ่มกลมสวย หลังจากเก็บผลปีสองก็ทำเหมือนเดิม หลังเก็บเกี่ยวปีที่สามต้นเริ่มชนกันให้ตัดแต่งเข้าไป ๒-๓ ช่วงใบที่แตกตัดทิ้งออกไป เพราะหลังจากเก็บผลแล้วต้นลำไยจะผลิใบยอดได้แค่ ๓ รุ่นเท่านั้นเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องทำการตัดแต่งลำไยทุกปี เป็นการควบคุมทรงพุ่มไม่ให้กิ่งยอดลำไยเกยกัน จะทำให้ยอดลำไยไม่ได้รับแสงแดดไม่ออกดอก ก่อนตัดแต่งให้ใส่ปุ๋ย ๒๔-๗-๗ ต้นละ ๓๐๐ กรัม หรือ ๕๐๐ กรัม แล้วแต่อายุของต้นเมื่อเกษตรกรตัดแต่งต้นเสร็จแล้วต้นลำไยก็พร้อมที่จะแทงยอดใหม่ พอต้นลำไยผลิยอดครั้งที่ ๒ และ ๓ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๘-๔๖-๐ เป็นการสะสมตาดอก


การราดสารบังคับให้ต้นลำไยออกดอก ให้เกษตรกรกำหนดว่าต้องการจะเก็บผลผลิตเมื่อใดจากนั้นให้นับวันที่จะเก็บลำไยย้อนหลังไป ๗ เดือน จึงทำการราดสารได้